วันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ประเด็นร้อน! มะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs)


ประเด็นร้อน! มะละกอดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) กับสหภาพยุโรป
: ปัญหาที่ต้องร่วมกันการแก้ไข
............................................................................................



                 ประเด็นร้อน สหภาพยุโรปตรวจพบมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMOs (Genetically Modified Organiss) ช่วงเดือน มีนาคม – กรกฎาคม ๒๕๕๖ มากถึง ๑๙ ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเดียวกัน ในปี ๒๕๕๕ เพิ่มขึ้น ๗ ครั้ง สหภาพยุโรป เตือน นับตั้งเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ จะเริ่มนับ ๑ และเมื่อครบ ๕ ครั้ง จะห้ามนำมะละกอจากประเทศไทยเข้าสหภาพยุโรป ทั้งที่กรมวิชาการเกษตร มีมาตรการให้ตรวจสอบก่อนการส่งออกแต่สถิติกลับเพิ่มขึ้น สหภาพยุโรปเองไม่มั่นใจในการตรวจสอบก่อนส่ง(Test Report) นี่จึงเป็นประเด็นร้อนทีกรมวิชาการเกษตรเรียกประชุมผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก โรงคัดบรรจุ และเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อหาแนวทางลดสถิติ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
            เมื่อวิเคราะห์ลึกลงในรายละเอียดในการแจ้งเตือนของสหภาพยุโรป พบว่า ๒ ครั้งเป็นการตรวจพบในมะละกอแปรรูป และอบแห้ง ๑๗ ครั้ง เป็นมะละกอดิบ และที่สำคัญ มีผู้ประกอบการบางรายมีสถิติการพบซ้ำ ๆ หลายครั้ง ดังนั้นประเด็นร้อนที่พูดคุย จึงหนีไม่พ้นการหาแนวทางในการลดจำนวนลงอย่างเร่งด่วน แนวทางที่นำเสนอกันในที่ประชุม แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรก ให้มีการนำแปลงที่มั่นใจส่งตรวจแปลงชั้นแรก และก่อนส่ง ตรวจอีกครั้งตามประกาศเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เป็นการตรวจซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการป้องกัน กลุ่มที่สอง ต้องการให้หยุดส่งแล้วหาทางแก้ไขทีหลังเมื่อได้แนวทางแล้วจึงเริ่มส่งใหม่  กลุ่มที่ สาม นำเข้ามาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ (Establishment List: EL) ก่อนที่จะลุกลามจนยากต่อการแก้ไข จึงเกิดการระดมความคิดกันนานกว่า ๔ ชั่วโมง ที่สุดได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังไม่รู้ว่าอธิบดีกรมวิชาการเกษตร จะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร?
กรมวิชาการเกษตร ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕  เรื่องการส่งออกมะละกอไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิสและไอซ์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ (test  report) มะละกอที่ส่งออกมิใช่มะละกอดัดแปลงพันธุกรรม  แต่เหตุใด หลังจากมีประกาศฉบับดังกล่าวแล้วสถิติจึงกลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ นี่เกิดจากสาเหตุใด ลองมาวิเคราะห์ดู ว่าที่จริงแล้ว ใครคือต้นเหตุ ใครต้องรับผิดชอบ แต่ก่อนจะเล่าถึงข้อสรุปในการประชุม ขอทำความเข้าใจ กับ มะละกอ จีเอ็มโอ ก่อนครับ เพราะหลายท่านอาจจะรู้ แต่หลายท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ
จีเอ็มโอ ย่อมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Genetically Modified Organisms (GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตซึ่งไม่ว่าจะเป็นพืช หรือสัตว์ หรือแบคทีเรีย หรือ จุลินทรีย์ ที่ถูกดัดแปลง พันธุกรรมจากกระบวนการทาง พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) โดยจากการตัดเอายีน(gene)ของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง มาใส่เข้าไปในยีน(gene)ของสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยตามปกติไม่เคยผสมพันธุ์กันได้ในธรรรมชาติ เพื่อให้สิ่งมีชีวิตชนิดนั้น ที่มีคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติตามที่ต้องการซึ่งสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำยีน(gene)มาใส่เข้าไปแล้วก็คือ จีเอ็มโอ(GMOs)  ตัวอย่าง เช่น นำยีน(gene) ทนความหนาวเย็นจากปลาขั้วโลกมาผสมกับมะเขือเทศเพื่อให้มะเขือเทศปลูกในที่ที่อากาศหนาวเย็นได้ นำยีน(gene)จากแบคทีเรียชนิดหนึ่งมาใส่ในยีน(gene)ของถั่วเหลืองเพื่อให้ถั่วเหลืองทนทานต่อยาปราบวัชพืช นำยีน(gene)จากไวรัสมาใส่ในมะละกอเพื่อให้มะละกอต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนได้ เป็นต้น
โดยพืชที่ได้รับการตัดต่อยีน(gene)จากกระบวนการทางพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) อาจเรียกแบบเฉพาะได้ว่า Transgenic Plant ส่วนคำว่า จีเอ็มโอ(GMOs)เป็นคำที่เรียกสิ่งมีชีวิตทั่วไปที่ได้รับการตัดต่อยีน(gene) พืชจีเอ็มโอ (GMOs)ที่มีขายตามท้องตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ ถั่วเหลือง, ข้าวโพด, มันฝรั่ง, มะเขือเทศ,มะละกอ,ฝ้าย,คาโนลา(Canola)(พืชให้น้ำมัน) และสควอช(Squash) เป็นต้น
เหตุใด มะละกอไทย(ส่วนใหญ่ เป็นพันธ์แขกดำ และแขกญวน)จึงได้รับความนิยมในยุโรป  ในผลดิบ คนเอเชียที่ย้ายถิ่นฐานไปในสหภาพยุโรปนิยมไปทำส้มตำและสลัดต่าง ๆ มีความต้องการในปริมาณมาก และราคาถูกเมื่อเทียบกับผักผลไม้อื่นที่สามารถทดแทนกันได้  จึงเกิดปัญหาปนเปื้อน GMOs ?
เนื่องจากนโยบายเกี่ยวกับ จีเอ็มโอ ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นอนุญาตให้ทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอเท่านั้นขณะที่ในมุมของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศบังคับใช้กฎติดฉลากจีเอ็มโอเมื่อ 11 พ.ค.2546  อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่มีกฎติดฉลากอาหาร จีเอ็มโอที่อ่อนแอ ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นล้วนแต่ปฏิเสธอาหาร จีเอ็มโอ จึงเห็นได้ว่า หลังจากมีการทดลองปลูกมะละกอ GMOs ในแปลงทดลอง และมีผลผลิตหลุดลอดออกมาหลายปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน เมล็ดพันธ์ที่เป็น GMOs ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด จึงเป็นต้นเหตุสำคัญให้ปัจจุบัน ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เต็มไปด้วยมะละกอ GMOs  และยังได้รับความนิยมจากเกษตรกรผู้ผลิตเอง เนื่องจากผลผลิตทนต่อโรคได้ดี ขายได้ราคา จึงได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว
จากประเด็นร้อนที่เกิดที่สหภาพยุโรป ทางด้านกระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นออกประกาศเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 สั่งตรวจเข้มผลิตภัณฑ์มะละกอนำเข้าจากไทยหลังจากพบว่าเป็นมะละกอมีการเคลื่อนย้าย(Transgenic plants หรือ GMOs) เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีรายงานการพบมะละกอจีเอ็มโอจากไทยส่งไปยังสหภาพยุโรป ทำให้ญี่ปุ่น จับตาดูการนำเข้ามะละกอจากไทย แต่เนื่องจากผลมะละกอสดยังไม่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้าญี่ปุ่นภายใต้กฎหมายป้องกันโรคพืช(Plant Protection Law) จึงได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์จากมะละกอแทนและพบว่าผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งนำเข้าจากไทยมีการเคลื่อนย้ายยีนส์เพื่อป้องกันไวรัสจุดวงแหวนในมะละกอ(Papaya Ring Spot Virus) โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัย ขัดต่อพระราชบัญญัติสุขอนามัยอาหารของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงออกคำสั่งให้ตรวจผลิตภัณฑ์มะละกออบแห้งเข้มงวดมากขึ้นโดยเพิ่มขึ้นเป็นตรวจร้อยละ 30 ของการนำเข้าทั้งหมด หากพบอีกครั้งจะออกคำสั่งให้ตรวจเพิ่มขึ้นทั้งหมดตามปริมาณนำเข้า(ร้อยละ 100)
                แนวทางป้องกันที่ไม่ให้มะละกอที่ส่งไปสหภาพยุโรป ปนเปื้อน GMOs และอาจจะลุกลามไปประเทศอื่น ๆ จึงต้องหันกลับมาช่วยกันป้องกัน ในขณะเดียวกันคำตอบที่ชัดเจนว่ามะละกอ GMOs เป็นพืชที่ก่ออันตรายก็ยังไม่ชัดเจน การใช้กฎหมายติดฉลากไม่เข้มแข็ง เกษตรกรนิยมใช้เมล็ดพันธุ์ GMOs กฎหมายเรื่องของการนำเข้า และจำหน่ายเมล็ดพันธ์ ยังไม่สามารถใช้บังคับได้อย่างจริงจัง การลักรอบนำเข้าเมล็ดพันธุ์ยังเกิดอยู่ ตลาดบางแห่งไม่ปฏิเสธ  แต่บางแห่งปฏิเสธอย่างชัดเจน นี่เองจึงเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก และต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งละเลย หรือหย่อนยาน นั่นก็หมายถึง อนาคตของมะละกอสดไทยที่เคยสร้างรายได้ให้กับประเทศมีอันต้องหายไปจากคำสั่งซื้อจากลูกค้าอย่างน่าเสียดาย
                ในขณะที่อีกมุมมอง ว่า สหภาพยุโรป พยายามใช้มาตรการกรีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ระบบภาษี(Non-tariff barrier) ก็อาจจะมองได้ เพราะหากใช้กับทุกประเทศที่นำเข้าสหภาพยุโรป ให้เกิดความเป็นธรรม  ก็คงไม่เป็นไร แต่นี่ประเทศไทยถูกใช้ก่อนใคร เช่นเดียวกับ มาตรการควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อ EL ที่ใช้กับประเทศไทย มานานกว่า 3 ปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ถูกใช้ และยังสามารถส่งออกได้ตามปกติ โดยอ้างว่า ประเทศไทยสถิติตรวจพบมาก แต่เมื่อถามกลับว่า แล้วสถิติที่ตรวจพบนั้นเปรียบเทียบกับจำนวนการนำเข้าหรือไม่ กลับได้รับคำตอบว่า ไม่เทียบกับจำนวนนำเข้า ดูเพียงว่าสถิติเพิ่มขึ้นมาก จึงใช้มาตรการควบคุมพิเศษฯ  EL และเมื่อถามว่าทำไมประเทศเพื่อนบ้านยังส่งได้ คำตอบคือ ประเทศเหล่านั้นยังส่งในปริมาณยังน้อย สถิติเลยพบน้อย จึงยังไม่นำมาตรการควบคุมพิเศษนี้มาใช้ เมื่อพบมากขึ้น อาจจะนำมาตรการควบคุมพิเศษฯ EL มาใช้ในเงื่อนไขต่อไป นี่เองจึงเป็นการนำมาตรการมาใช้ที่ไม่เท่าเทียมและเป็นธรรมต่อประเทศไทย
                พิจารณาถึงเหตุผลดูดี แต่ผู้ประกอบการไทย เกษตรกรไทย กำลังเข้าสู่ทางตัน ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน กลับมีแนวทางแจ่มใส แม้ว่าไม่ใช้ระยะยาว แต่ปัญหาเฉพาะหน้า และระยะสั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการไทยที่สายป่านไม่ยาวก็เป็นอันว่าพับเสื่อกลับบ้าน ส่วนผู้ประกอบการที่ดิ้นรนหาทางออกก็ใช้วิธีส่งออกผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่เกษตรกรเพื่อบ้านกลับได้รับอณิสงฆ์จากมาตรการเหล่านี้ เพราะอย่าลืมว่า เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ใครจะเอาไปปลูกประเทศเพื่อนบ้าน พันธุ์พืชเหล่านี้ใช้ระยะเวลาสั้น 45-90 วัน ก็สามารถผลิตพืชผักผลไม้บางชนิดส่งขายได้ แถม ต้นทุน ค่าแรง ค่าปุ๋ย ค่ายาถูกกว่า ไม่มีเงื่อนไขการทำแปลง ไม่ต้องตรวจสอบหน้าด่านเข้ม ดังนั้นประเทศเหล่านี้ถือว่ารับไปเต็ม ๆ
                เมื่อถามว่าหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไรกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ คำตอบที่ได้รับคือเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ และหาแนวทางแก้ไขเอง นี่เองจึงเป็นปัญหาสำคัญหาทางแก้ไขอย่างไร้กติกา และที่สำคัญยอดการส่งออกของไทยในด้านผักผลไม้จึงลดลงอย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ ยากต่อการแก้ไข
                แนวทางแก้ไขปัญหา จีเอ็มโอ ของไทยเมื่อต้องการขายไปสหภาพยุโรป จากผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งสามกลุ่มที่แสนอแนวความคิด สรุปได้ว่า
1.  เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในครั้งนี้ คือการลดสถิติการตรวจพบให้ลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือไม่พบเลย
2.  ทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรไม่หยุดฉะงัก สามารถส่งออกได้ต่อเนื่อง และไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายจากที่เป็นอยู่
3.    แนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวจะทำอย่างไร
ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่กรมวิชาการเกษตรฯ อนุญาตให้บริษัทมอนซานโต้ (ไทยแลนด์)จำกัด นำเข้าเมล็ดพันธุ์ฝ้ายดัดแปลงพันธุกรรมเข้ามาปลูกทดสอบแบบแปลงเปิดในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี 2538 ซึ่งพบการปนเปื้อนของฝ้าย จีเอ็มโอ (บีที) จังหวัดเลย ในปี 2542 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯเอง ยอมรับว่าเกิดการปนเปื้อนจริง
หลังจากนั้นเรื่องราวเกี่ยวกับ จีเอ็มโอ ก็หายไปนาน จนกระทั่งเป็นข่าวอีกครั้งในกรณีของ มะละกอ จีเอ็มโอ เมื่อราวปี 2547 กรีนพีซ ลงสำรวจแปลงทดลองมะละกอ จีเอ็มโอ ของกรมวิชาการเกษตรจนเป็นข่าวดังเพื่อบอกว่ามะละกอ จีเอ็มโอ ในแปลงนี้ได้หลุดรอดออกไปภายนอกและอาจผสมกับมะละกอทั่วไปกระทบต่อพันธุกรรมดั้งเดิม และด้วยความห่วงกังวลว่าเรายังไม่รู้ผลระยะยาวของอาหารที่ตัดต่อพันธุกรรม
ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรเองไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการมะละกอปนเปื้อน จีเอ็มโอ ซึ่งมีการประกาศเขตควบคุมศัตรูพืช และใช้วิธีการทำลายโดยการฝังกลบ ซึ่งแม้จะไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุด แต่ก็ยังมีการติดตามตรวจสอบปัญหาการปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2547-2550 ในหลายพื้นที่ เช่น นครสวรรค์ นครนายก ชุมพร ระยอง ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ระยอง เป็นต้น
ในทางนโยบายเกี่ยวกับ จีเอ็มโอ ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นอนุญาตให้ทดลองปลูกพืช จีเอ็มโอ เท่านั้น ขณะที่ในมุมของผู้บริโภค กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศบังคับใช้กฎติดฉลาก จีเอ็มโอ เมื่อ 11 พ.ค.2546 อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่มีกฎติดฉลากอาหาร จีเอ็มโอ ที่อ่อนแอ ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นล้วนแต่ปฏิเสธอาหาร จีเอ็มโอ
กฎติดฉลากที่บังคับใช้ในปัจจุบันกำหนดเงื่อนไขว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองและข้าวโพด จีเอ็มโอ ใน 3 ส่วนประกอบหลักร้อยละ 5 ขึ้นไปเท่านั้นต้องติดฉลาก (หากมีถั่วเหลืองและข้าวโพด จีเอ็มโอ อยู่ในส่วนประกอบที่ 4, 5, 6 เกินร้อยละ 5 ไม่ต้องติดฉลาก) ส่วนพืช จีเอ็มโอ ชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องติดฉลาก ดังนั้น มะละกอจึงไม่อยู่ในข่ายที่ต้องติดฉลาก


สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และระยะสั้นที่จะต้องดำเนินการเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาอาจเป็นข้ออ้างในการระงับการนำเข้ามะละกอสดจากประเทศไทย ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า ผู้ประกอบการที่มีแปลงมะละกอที่ควบคุม GMOs และส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง สามารถนำแปลงดังกล่าว พร้อม ชื่อที่อยู่ของแปลงผลิตพร้อมตัวอย่างส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบ GMOs โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และเมื่อส่งออก ต้องส่งตรวจสอบตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕  เรื่องการส่งออกมะละกอไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิสและไอซ์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๕ ต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ (test  report) มะละกอที่ส่งออกมิใช่มะละกอดัดแปลงพันธุกรรม  ดังนั้นผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ต้องมีผลการรับรอง(Test Report) สองฉบับ เพื่อประกอบการขอ P/C ในการส่งออกแต่ละครั้ง
การแก้ไขปัญหาระยะยาว ผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออกมะละกอสดสามารถยื่นแปลงผลิตที่เริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลง เมล็ดพันธ์ ระยะติดดอก และผลก่อนเก็บเกี่ยว ส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบ รับรองแปลง ทางกรมฯจะเก็บรวมรวมแปลงต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปส่งออกในสหภาพยุโรป เพื่อเป็นแปลงทางเลือกให้กับผู้ประกอบการทั้งที่มีแปลงของตนเอง และไม่มีแปลงของตนเองต่อไป
การแก้ไข แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการ และผู้ผลิต จะมิใช่ต้นเหตุของปัญหา แต่เกิดจากหลายฝ่ายที่ต่างฝ่ายต่างคิดในมุมมองที่แตกต่างกัน ปล่อยปะละเลย จนลุกลามเป็นปัญหาใหญ่  ดังนั้นทุกภาคส่วนจะต้องหันกลับมาพูดคุยกันถึงแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และกำหนดเป้าประสงค์ในการแก้ไขปัญหาที่ทุกฝ่ายได้ผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง วันนี้แนวทางที่เกิดจากการระดมความคิดเห็น เปิดกว้าง ให้ผู้ผลิตสามารถผลิตต่อไปได้ ผู้ประกอบการยังคงส่งออกได้ตามปกติ ในขณะที่ภาครัฐมีมาตรการที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล เหลือเพียงแต่อธิบดีกรมวิชาการเกษตรจะตัดสินใจอย่างไรในข้อสรุปครั้งนี้ ต้องรอดูกัน...
หากทุกภาคส่วนใส่ใจในการแก้ปัญหาร่วมกัน แม้ว่าจะมีเหตุการณ์สุดวิสัยที่เกิดขึ้นจากเจตนาบริสุทธิ์ เชื่อว่าสถิติที่พรุ่งขึ้นในปัจจุบันจะลดลงอย่างน่าพอใจ และนี่เอง คงมีเหตุผลเพียงพอที่สหภาพยุโรปจะไม่ห้ามนำเข้ามะละกอจากประเทศไทย เว้นเสียแต่ว่า ทุกฝ่ายจะทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง อันนี้อยู่นอกเหนือเหตุผลที่จะแก้ไขในเชิงยุทธวิธี แต่ต้องแก้ไขในพฤติกรรมของคนให้มีจิตสำนึก รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ มีวินัย กล้าตัดสินใจ มองเป้าหมายของประเทศ เกษตรกร ผู้ประกอบการเป็นหลัก มิใช่เพื่อความอยู่รอด เพื่อรักษาตำแหน่งความก้าวหน้าของตนเอง  เพราะนี่คือคุณธรรมของคนดีครับ!
......................................................................................................................
ที่มา :
                http://www.thaibiotech.info/what-is-gmos.php
                http://prachatai.com/journal/2013/04/46347
                หนังสือจากกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่ พณ ๐๓๐๙.๐๙/ว ๙๑๓ ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖
                ประกาศ กรมวิชาการเกษตร วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕  เรื่องการส่งออกมะละกอไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์ สมาพันธรัฐสวิสและไอซ์แลนด์ พ.ศ. ๒๕๕๕