วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

๓ ปี มาตรการ EL: ฤาจะเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกัน...

             

               เดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ผ่านพ้น ครบ ๓ ปีของมาตรควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ(Establishment List : EL) ที่ใช้ในการขอและออกใบรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับสินค้าผักผลไม้สดส่งออกไปสหภาพยุโรป นอร์เวย์และสหพันธรัฐสวิส เมษายน ๒๕๕๖ มีบริษัทผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ จากจำนวนที่ยื่นขอ EL จำนวน ๒๘ โรงคัดบรรจุ ผ่านเกณฑ์และได้รับอนุญาตจำนวน ๒๑ บริษัท ๒๒ โรงคัดบรรจุ มีแปลงที่ผ่านการประเมิน ๓๙๖ แปลง ดูตัวเลข แล้วภาคภูมิใจในความสำเร็จกับมาตรการดังกล่าว แสดงผลงานให้เห็นเป็นตัวเลข ว่าส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่กลุ่มเกษตรกร ผู้ส่งออก รวมถึงโรงคัดบรรจุ กลับมีตัวเลขตรงกันว่าการส่งออกในพืช EL ลดลง มากกว่า ๖๐ % จากก่อนเกิดมาตรการควบคุมพิเศษ ผู้ประกอบการและเกษตรกรในเครือข่าย กำลังเผชิญปัญหาที่ไม่สามารถก้าวเดินต่อได้ในเชิงพาณิชย์ อดทนเพื่อรอความหวังว่า อาจจะมีนวัตกรรมใดมาช่วยบรรเทา หรือมีวิธีการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สามารถใช้ในเชิงพาณิชย์ได อีกไม่นาน คงได้เห็นผู้ประกอบการ โรงคัดบรรจุ เกษตรกรเครือข่าย  ล้มเลิกกิจการการส่งออกผักผลไม้สดไปสหภาพยุโรป เลิกทำแปลง EL เร็ว ๆ นี้ เพราะทนต่อสภาพการขาดทุนอย่างต่อเนื่องไม่ไหว...    
                สหภาพยุโรปมีสมาชิกมากถึง ๒๗ ประเทศรวมนอร์เวย์และสหพันธรัฐสวิส อีก ๒ ประเทศ รวมเป็น ๒๙ ประเทศ แม้ว่าจะมีกำลังการซื้อสูง และมีความต้องการ ผักผลไม้จากเมืองไทย ทั้งร้านอาหารไทย เวียดนาม อินเดีย จีน ร้าน ห้างที่ขายผักผลไม้สด ที่มีกระจัดกระจายไปทุกมุมของประเทศเหล่านี้ก็ตามที แต่เมื่อรวมปริมาณการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เมื่อเทียบกับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย หรือแม้จะเปรียบเทียบกับผลไม้เศรษฐกิจ อย่างลำไย ทุเรียน มังคุด ที่ส่งขายไปทั่วโลก ดูเหมือนจะห่างไกลจากความเป็นจริง เพราะเป็นปริมาณน้อย น้อยจนไม่น่าสนใจ  จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจ แม้ว่าหลายคนจะยกเอานโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกขึ้นมาเป็นประเด็นแก้ต่าง แต่ไม่สำเร็จ  เพราะจำนวนที่กล่าวนั้นยังห่างไกลจากความเป็นจริง ผู้ประกอบการ และเกษตรกรกลุ่มนี้จึงเป็นเกษตรกรนอกสายตา ไม่มีใครเหลียวแล แม้แต่มีสมาคมที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ก็ยังดูเหมือนว่าอ่อนแอเพราะทีมงานสมาคมก็ดี ผู้ประกอบการก็ดี ล้วนแต่เป็นนักธุรกิจที่เข้าใจระบบการค้าในเชิงพาณิชย์  แต่ทีมงานภาครัฐ คือผู้ออกกฎระเบียบ กำกับดูแลออก ล้วนแล้วแต่มีความชำนาญเฉพาะด้านประชุมกันก่อนได้ข้อสรุป แล้วจึงนัดประชุมคณะกรรมการร่วม ที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้เตรียมตัว วันนี้แม้ว่าจะมีคณะกรรมร่วมภาครัฐเอกชน เข้าร่วมประชุม จึงดูเหมือนการเข้าไปนั่งประชุมแต่ละครั้ง กลายเป็นการสนับสนุนข้อเสนอที่จะสร้างเป็นกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องโดยผ่านการรับรู้และอ้างอิงได้อย่างสมบูรณแบบอย่างไม่มีทางเลือก
                การประชุมแก้ไขของภาครัฐและภาคเอกชนที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลากว่า ๑ ปี มีเพียงมาตรการที่เพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง จากหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ เพื่อควบคุมพืชผักผลไม้และดอกไม้ มากถึง ๕๘ ชนิด( มาตรการควบคุมพิเศษ,พืชที่ต้องตรวจสารพิษตกค้าง ตรวจเชื้อจุลินทรีย์ พืชควบคุมเฉพาะ Regulated Plants ของ EU,ของไทย พืชที่ต้องรับรองพิเศษหน้าด่าน,พืชเฝ้าระวังพิเศษหน้าด่าน:ดูรายละเอียดเอกสารแนบ) และอาจจะเพิ่มเติมพืชผักและผลไม้ที่มีสถิติการตรวจพบบ่อยครั้ง อย่าง ชมพู่ มะม่วง และฝรั่ง ที่กำลังรอเข้าเป็นพืชที่ต้องเข้ามาตรการควบคุมพิเศษ EL  และที่สุดแนวโน้มอนาคตอันใกล้ คงเข้าสู่มาตรการพิเศษ ELทุกตัว  ในขณะที่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ส่งออก และโรงคัดบรรจุ ยังคงใช้ระบบ ที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของหลักวิชาการ สวนทางกับหลักการปฏิบัติการในเชิงพาณิชย์อย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยเดิน ตามคำแนะนำของสหภาพยุโรป เสมือนนักเรียนดี ที่เชื่อฟังครู ในขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านยังคงอาศัยช่องว่างที่มาตรการดังกล่าวยังไม่ใช้กับประเทศเหล่านั้น ส่งขายอย่างต่อเนื่อง  ผู้ส่งออกในไทย ดิ้นรนหาทางออกเพื่อให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอดในช่วงเปลี่ยนแปลง(๓ ปี เต็ม) ทนต่อคำครหาว่าเห็นแก่ตัว ทำลายชื่อเสียงของประเทศ ส่งผ่านประเทศเหล่านั้น เพราะอย่างไรปลายทางก็ทราบว่ามาจากเมืองไทย
                ผู้ประกอบการ โรงคัดบรรจุ ที่เป็นเด็กดี ตั้งหน้าตั้งตาแก้ไข บนพื้นฐานของ การจัดทำ EL ที่มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว ในขณะที่ค่าแรงงานขยับขึ้นเป็น ๓๐๐ บาท ค่าเงินบาทแข็งตัวมากที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งที่สำคัญ ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ค่าปุ๋ย สารเคมี ท้ายที่สุดภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำโดยเฉพาะคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการเผชิญปัญหา ดิ้นรนเพื่อหาทางออก ดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ในขณะที่มาตรการต่าง ๆ เขม็งเกลียวขึ้นทุกวัน ที่สุด ยอดขายที่เคยส่งออกลดลงมากกว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ รายได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ต้นทุนสูงขึ้น ราคาการแข่งขันที่มีต้นทุนที่แตกต่างกัน ผลผลิตที่ส่งน้อยลง เป็นแรงจูงใจให้ประเทศเพื่อนบ้านเร่งผลิตเพื่อทดแทน ประเทศในสหภาพยุโรปที่มีภูมิอากาศใกล้เคียงเร่งเพาะปลูกเพื่อทดแทนสินค้าที่เคยครองตลาดจากประเทศไทย เนื่องจากพืชผักเหล่านี้ใช้เวลาเพาะปลูกเพียง ๔๕ วัน สายพันธุ์นำเข้าจากไทยที่แสนง่ายดาย ทั้งคนไทย คนเอเชีย แม้แต่คนในประเทศในสหภาพยุโรป กลายเป็นเกษตรกรทดแทน  เกษตรกรไทยที่เคยผลิตส่งออกขาย เข้าแทนที่สินค้ายอดนิยมอย่าง พริก กะเพรา โหรพา มะเขือ ถั่ว และไม่ช้าไม่นานนี้ เขาสามารถปลูกตะไคร้ได้ เมื่อนั้นผู้ส่งออกไทยก็ดูเหมือนไม่เหลือพืชผักไทยอะไรให้ได้ส่งไปขายสหภาพยุโรป มีเพียงสินค้าที่ผลิตในสหภาพยุโรปวางเกลื่อนตลาด แล้วอะไรจะเกิดขึ้น...           
                ปัญหา วันนี้เริ่มเห็นพริก โหรพา กะเพาจากสเปน ที่วางขายในซุปเปอร์มาเกต เห็นพริกจากเยอรมันที่มีรูปลักษณ์ และรสชาติใกล้เคียงกับเมืองไทย เห็นพริกจากเวียดนามที่เป็นสายพันธุ์แท้ที่มาจากเวียดนาม และที่เป็นสินค้าส่งผ่านประเทศเหล่านั้นเข้าไปขายในราคาถูกว่าต้นทุนที่เด็กดีอย่างที่ผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ตั้งใจทำส่งมาขาย เห็นสินค้าที่มีลักษณะเหมือนสินค้าที่มาจากไทย แต่มีแหล่งกำเนิดจาก มาเลเซีย จากเวียดนาม จากกรรมภูชา จากลาว มันเกิดอะไรขึ้นกับสินค้าที่มาจากประเทศไทย จะแก้ไขอย่างไร ก่อนที่ผักผลไม้จากประเทศไทยที่เคยโดดเด่นในสหภาพยุโรป จะกลายเป็นตำนานที่กล่าวขานกันในอนาคตอันใกล้นี้
                นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก เป็นนโยบายที่ดี และเหมือนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งที่ผลิตอาหารสำคัญของโลก ท่ามกลางการแข่งขัน อย่างรุนแรง แต่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนในเชิงธุรกิจ แต่กลับออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลจนเกษตรกร และผู้ประกอบการจนตกอยู่ในภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง บางคนกล่าวว่า ผู้ประกอบการมีฐานะดี ได้กำไรต่อหน่วยสูง คนเหล่านั้นไม่รู้ข้อมูลที่เป็นจริง ลืมคิดไปว่า ตัวอย่าง ซื้อพริกแดงมากิโลละ ๖๕ บาท คัดคุณภาพ(คัดทิ้ง) ต้นทุนเพิ่มเป็น ๘๕ บาท แล้ว ค่าตรวจสาร ตรวจเชื้อ ค่าจัดทำ EL กว่า ๑๕๐ บาทต่อกก. ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าแรงงาน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๔๐ บาท ค่าขนส่ง กก.ละกว่า ๑๒๐ บาท ค่ากระจายสินค้าปลายทางคิด ๒๕ % ค่าใช้จ่ายบวกกำไรของห้างสรรพสินค้าอีก ๒๕ %  ราคาขายปลีก กว่า ๖๐๐ บาท ใครไปเที่ยวยุโรปเห็นราคาพริกแดงที่มาจากเมืองไทย ตกใจ กลับมาคุยว่าผู้ส่งออก พ่อค้าคนกลางกดราคาเกษตรกร ผู้ประกอบการได้กำไรมากมาย แท้ที่จริงกำไรผุ้ประกอบการอยู่ที่ ๓-% กว่าจะได้กำไรแต่ละครั้ง ๆ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าของที่ส่งจะเกิดปัญหา เสียหาย อันเนื่องจาก ของส่งช้า อุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม บางครั้งกำไร ไม่กี่บาทต่อ กก. บางครั้งขาดทุน เพราะสินค้าที่สั่งแต่ละครั้งที่มีปริมาณสูงที่สามารถทำกำไรได้ ก็เป็นรายการการที่อยู่ในมาตรการพิเศษ ELที่ต้องอาศัยทักษะของแรงงานเป็นปัจจัยหลัก ดังนั้นการขยายเกลในการทำงานจึงทำได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด จากที่เคยส่งเป็น ร้อย ๆ กิโล กลับต้องส่งเพียง ๑๐-๒๐ กก. เพราะต้องใช้สายตาคนเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบครั้งสุดท้ายเพื่อให้ปลอดแมลงศัตรูพืช ๑๐๐ % หากหลุดไปที่หน้าด่าน หรือปลายทาง เสี่ยงต่อมาตรการถูกยกเลิก EL และเป็นผู้ทำรายชื่อเสียงของประเทศ           
                ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศในภูมิภาค มากกว่า 6 % กลับเป็นปัญหาซ้ำเติมผู้ประกอบการ และตอกย้ำให้การประกอบธุรกิจส่งออกที่กำลังย่ำแย่จากปัญหาค่าแรงที่ นักวิชาการบางคน เสนอให้ลดดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินทุนไหลเข้า นักวิชาการบางคนกลับบอกว่าดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อนบ้านแล้วดอกเบี้ยไม่ใช่ประเด็น แต่หลายคนว่าเป็นประเด็น ดอกเบี้ยต่ำทำไมนักลงทุนถึงมาลง ก็เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยดีกว่าเพื่อนบ้าน แม้ดอกเบี้ยจะต่ำกว่าเพื่อนบ้าน(แต่สูงกว่าสหรัฐอเมริกา)คนก็ยังมาลงทุน เพราะโครงสร้างพื้นฐานดีกว่าเพื่อนบ้าน รวมทั้งหากเมืองไทยมีความมั่นคงทางการเมือง เมื่อนั้นนักลงทุนย่อมมองเมืองไทยน่าลงทุน ดังนั้น การลดดอกเบี้ยและมาตรการอื่นที่ใช่ร่วมกันจึงสามารถช่วยให้เงินบาทอ่อนตัวลงได้ ผู้ส่งออกจึงเป็นแพะรับบาปต่อไป  
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำโดยเฉพาะในสหภาพยุโรปกระทบต่อการบริโภคของคน ประกอบกับปัญหามาตรการการควบคุมพิเศษ EL เรื่องของสารพิษตกค้าง เรื่องเชื้อจุลลินทรีย ปัญหาของแมลงศัตรูพืชเป็น จึงกลายเป็น อุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTB) เป็นปัญหาที่ประเทศคู่ค้าที่จำเป็นต้องปฏิบัติ ตามกฎระเบียบร่วมกัน ในขณะที่กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปด้วยกันเองกลับไม่เข้มงวด และนำมาใช้ไม่เท่าเทียมกันกับทุกประเทศ ทั้งในสหภาพยุโรปเอง และในประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งของประเทศไทย...
ปัญหาอื่น ที่เกิดจากมาตรการดังกล่าวจึงตามมา  โดยเฉพาะปัญหาที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานหาแนวทางในการปฏิบัติงานที่ง่ายที่สุด ในเวลาอันจำกัด  โดยที่หน้าด่านออกมาตรการ ในการเปิดตรวจสินค้าให้สอดคล้องกับการสุ่มตรวจปลายทาง จึงออกระเบียบในการบรรจุสินค้าสำหรับพืชผักที่อยู่ในกลุ่มรายชื่อ EL พืชผัก อยู่ในรายการควบคุม regulated plants ส่วน non regulated plants สามารถปนกันได้  รวมถึงพืชผักที่ต้องการของใบรับรองสุขอนามัย สรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือห้ามปนพืชผักต่างชนิดกัน มองผิวเผินไม่มีอะไร แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นต้นทุนที่ซ่อนไว้มากมาย  เพราะพืชทุกชนิดจำเป็นต้องของใบ PC หลายคนบอกไม่จำเป็น แต่ลูกค้าปลายทางต้องการให้ระบุลงใน PC ทั้งหมด เพราะเพื่อป้องกันถูกกล่าวหาว่ารักรอบส่งพืชผัก ความเป็นจริงในเชิงพาณิชย์ ลูกค้าปลายทาง รับสินค้าส่งให้ร้านจำหน่ายรายย่อย ดังนั้นลูกค้าแต่ละรายจะมีลูกค้าที่ต้องนำส่งสินค้าอีกหลายหลาย และลูกค้าย่อยมักจะสั่งสินค้าแต่ละครั้งไม่มาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรวมสินค้าหลาย ๆ ชนิดไว้กล่องเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจัดการ หากต้องบรรจุแยกสินค้าแต่ละชนิด จะทำให้สินค้าที่ไม่ต้องควบคุม และต้องขอ PC แยกบรรจุกล่อง ทำให้เพิ่มต้นทุนของสินค้านอกเหนือจากพืชผักที่อยู่ในมาตรการ EL และ Regulated plants ซึ่งเป็นสินค้าที่ช่วยแบ่งเบาภาระในเรื่องต้นทุนของพืชผักที่เข้ามาตรการและพืชควบคุม เพราะต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งที่ต้องใช้วิธีการคิดราคาจากฐานของปริมาตร แทนการคิด น้ำหนัก ราคาจึงสูงกว่าการนำน้ำหนักมาคิด
                ปัญหาดังกล่าวถูกนำมาคิดค้นหาวิธีกันหลากหลายรูปแบบ การล้าง การลมควัน การคัดเลือกด้วยสายตา เป็นวิธีการเบื้องต้นที่ถูกนำมาใช้ เพราะเพื่อหวังว่าจะเพิ่มยอดที่ตกลงจากภาวะที่เคยเป็นกว่า 60% แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีมาตรการที่กับกำดูแล หากตรวจพบมีบทลงโทษที่รุนแรงถึงขั้นปิดโรงงาน ปริมาณที่จะเพิ่มขึ้นจึงถูกปรามด้วยระเบียบที่เข้มงวด หลายผู้ประกอบการหาเครื่องล้างที่ทันสมัย ลมควัน ใช้คนจำนวนมากเพื่อคัดเลือก แต่สุดท้ายก็พลาด เพราะสิ่งเหล่านั้นมิใช่คำตอบสุดท้าย ความคาดเคลื่อนของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
กลับไปดูที่แปลง เกษตรกรเองก็เฝ้าดูแลตามขั้นตอน อย่างละเอียด แต่ธรรมชาติเมืองไทย เขตร้อนชื้น หน้าร้อน หน้าหนาว หน้าฝนมีแมลง เชื้อจุลินทรีย์ เชื้อรา ต่างชนิดกัน ใช้สารเคมีต้องเป็นไปตามกำหนด แต่ธรรมชาติไม่มีกฎกติกาที่มนุษย์สร้างขึ้น มีเพียงกฎธรรมชาติที่สมดุล ดังนั้น ปัญหาของธรรมชาติ กับปัญหาที่มนุษย์สร้างจึงไม่สมดุล และสะสมกลายเป็นปัญหาของสังคมในปัจจุบัน
หลายฝ่ายมองไปถึงอนาคต ว่า การส่งออกผักผลไม้สดในวันข้างหน้า ที่สุดต้องปลูกผักและผลไม้ในโรงเรือน อันนั้นคือแผนระยะยาวซึ่งทุกฝ่ายคงปฏิเสธไม่ได้ แต่แผนรองรับในเฉพาะหน้า(นานกว่า ๓ ปี) และระยะสั้น อันนี้ยังไม่มีใครคิดและทำ ปล่อยไปตามยถากรรม ของเกษตรกร และผู้ประกอบการ และเมื่อเกษตรกร และผู้ประกอบการดิ้นหนีน้ำเพื่อความอยู่รอด กลับกลายเป็นทำรายชื่อเสียงของประเทศ
                วันนี้ พืชผักผลไม้ไทยที่ส่งไปขายในสหภาพยุโรป กำลังเดินเข้าสู่ทางตัน เพราะ ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับชาติ หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ ภาคเอกชนคือผู้ประกอบการ เกษตรกรเครือขาย ไม่สามารถแก้ไขได้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้เอง เพราะไม่ว่าจะความไม่เท่าเทียมกันของสหภาพยุโรปกับประเทศที่ส่งผักผลไม้เข้าไปนั้น ไม่ใช้มาตรการที่เหมือนกัน และเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ปัญหาภายในประเทศที่ใช้มาตรฐานแตกต่างกันในเรื่องของความปลอดภัย  การกำกับดูแลที่ไม่เท่าเทียมกัน จึงทำให้เกษตรกรเองมีทางเลือก เช่น ระบบ GMP ของเกษตรกรที่ผลิต และขาย ยังมีความแตกต่างกัน ผู้ที่ไม่ทำก็สามารถส่งออกได้บางประเทศ หรือขายในประเทศได้ ทำให้มีทางเลือกที่จะไม่ปฏิบัติ และยังสามารถขายได้ในราคาใกล้เคียงกัน ไม่มีใครกล้าแตะเกษตรกรเพราะมองว่าเป็นฐานรากของกลุ่มการเมือง
                มาตรควบคุมพิเศษระบบบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ(Establishment List : EL) เป็นมาตรการดี ที่ยากต่อใครจะปฏิเสธ  แต่หากถูกนำมาใช้อย่างไม่เท่าเทียมและเสมอภาค ไม่มีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ ไม่มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนช่วยเหลืออย่างจริงจังทั้งที่มีกรมที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่มีการพัฒนาค้นหานวัตกรรมเครื่องมือใหม่มาทดแทนและตรวจสอบอย่างมีระบบ ขาดทีมงานมืออาชีพในการเจรจาต่อรองและต่อเนื่อง ไม่มีการวางแผนเฉพาะหน้า ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวร่วมกันกับภาครัฐทุกหน่วยงาน(ต่างกรม ต่างกระทรวง ต่างความคิด ต่างวิธีการปฏิบัติ) ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง  หาก ยังขาดการบูรณาการทุกหน่วยงาน และดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในระดับชาติแล้ว อนาคตอันใกล้นี้พืชผักผลไม้ไทยที่เคยโด่งดังเป็นดาวเด่นในสหภาพยุโรป นโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลกที่ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ก็ต้องถึงกาลอวสานหรือจะปล่อยให้ผักผลไม้สดของไทย...ฤาจะเป็นเพียงตำนานที่เล่าขานกันในครั้งหนึ่งเมื่อท่านเดินทางไปสหภาพยุโรปเพียงเท่านั้นเองหรือ...
............................................................................

ขอขอบคุณบริษัท  พีดีไอ เทรดดิ้ง จำกัด ที่รวบรวมข้อมูลรายการพืชควบคุมทุกประเภท เพื่อใช้ประกอบการเขียนบทความครั้งนี้

มะม่วง ๒๕๕๖

              
             ย้อนไป พฤศจิกายน ปลายปี ๒๕๕๕ ช่วงที่ มะม่วงตามฤดูกาลภาคกลาง อย่างฉะเชิงเทรา  สระแก้ว สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ราชบุรี ควรจะออกดอกบานสะพรั่ง และเก็บเกี่ยวได้นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนเดือนมีนาคม จากนั้น ต้นเมษายน มะม่วงภาคกลางมะม่วงควรเริ่มบางตา ผลผลิตเคลื่อนขึ้นภาคเหนือตอนล่างอย่าง ชัยนาน พิจิต  สุโขทัย พิษณุโลก  เพชรบูรณ์ เราะเรื่อยไปภาคตะวันออกเชียงเหนือ อย่างสกลนคร บุรีรัมย์  ผ่านพ้นไป ภาคเหนือตอนบน อย่างพะเยาว์  ลำพูน เชียงใหม่ โดยเฉพาะย่านอำเภอพร้าว ที่ถือว่าเป็นแหล่งมะม่วงใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ  ขึ้นจนถึงเชียงราย เวียงแห เวียงป่าเป้า เป็นแหล่งสุดท้ายตอนเดือนมิถุนายนของทุกปี ก่อนจะมุ่งลงภาคใต้ตอนบน ประจวบคีรีขัน และบางแห่งย่านภาคกลางที่นิยมผลิตมะม่วงนอกฤดู เริ่มช่วง เดือนกรกฎาคม จนถึง ปลายปี สมุทรสาคร แถวบ้านแพร้ว ไร่เรียงไป อ่างทอง แถวสามโก้ ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี ราชบุรี แถวดอนคา ดอนพรม เพชรบุรี กาญจนบุรี รวมถึงแถวประจวบ  เป็นอันว่าครบปี  แต่ปีนี้ไม่เป็นอย่างที่เคยเป็น !
                การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ฝนตกหนักติดต่อกันนานทั่วประเทศ ทำให้ดอกมะม่วงเสียหาย กลางวันอากาศร้อน เช้ามีหมอก บ่ายฝนตก กระทบต่อการติดผลของดอกของมะม่วงอย่างรุนแรง เกิดความเสียหาย จนบางสวนต้องปล่อยทิ้ง หลายคนพยายามที่จะสู้บ้างก็ได้ผล บ้างก็ไร้ผล เพราะฝนตกทุกวัน นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม เรื่อยจนเข้ากุมภาพันธ์ทั้งเดือนที่เคยเป็นช่วงฤดูกาลมะม่าวของภาคกลางออกสู่ตลาดขายกันสนุกสนาน  บางจังหวัดที่ทำนอกฤดูก็พลอยกระทบไปด้วย จึงเกิดภาวการณ์ขาดแคลนมะม่วงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์อย่างรุนแรง เข้า จนต้นเดือนมีนาคม ราคาโด่งแต่ก็ยังขายได้เพราะไม่มีผลผลิตจะขาย      
การขาดแคลนมะม่วงอย่างรุ่นแรงที่เกิดขึ้น ทั้ง คุณภาพที่ได้ก็ไม่ดีเท่าที่ควร  ทำให้ราคาสูง ทั้งที่คุณภาพด้อยลง  ราคากลับขยับตามขึ้นกลไกตลาด  ดังนั้นตลาดอย่างสิงคโปร์ และจีน ฮ่องกง  และรัสเซีย จึงได้รับผลกระทบ เกิดภาวการณ์ส่งออกขาดช่วง  ภายในประเทศเอง ก็หามะม่วงส่งห้างยาก ในตลาด อ.ต.ก. ราคาสูง และคุณภาพไม่ดีเหมือนปีก่อน ๆ  โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้ ทะวายเบอร์สี่ เป็นมะม่วงพันธ์เบา ที่สามารถผลิตได้ง่ายกว่า น้ำดอกไม้สีทอง แต่ก็อ่อนแอ เชื้อราเกิดง่ายในปีนี้ หลายคนเสียหายเพราะไปถึงลูกค้าปลายทางเน่าเสียจำนวนมาก และอีกเหตุผลหนึ่งในปีนี้ ธรรมชาติ เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในช่วงปลายเดือนธันวาคม เรื่อมาจนถึงเดือนมีนาคม เป็นช่วงฤดูหนาวของยุโรป รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งเป็นตลาดใหญ่มะม่วงของไทย เมื่อของคุณภาพไม่ดี พบอากาศหนาวชนิดหิมะตกหนาเป็นฟุต ทำให้มะม่วงควรจะสุกไว และขายได้ไว กลับยืดเวลาในการสุกออกไป เชื้อราเกิดง่าย ทำให้สินค้าเสียหาย ไม่เว้นแม้แต่มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง พลอยถูกผลกระทบกันทั่วหน้า
                กลางธันวาคม จนร่วงเลยถึงมกราคม 2556 อากาศหนาวเย็นเป็นช่วง ๆ ทั้งประเทศ   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหนาวก่อน มาภาคเหนือตอนบน ภาค เหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน จึงส่งผลให้มะม่วงที่เสียหายจากเดือนพฤศจิกายน เริ่มออกดอกพร้อมกัน เพราะย่อมความกดอากาศสูงแผ่มาเป็นระลอก ๆ แต่ละครั้งมีเวลา หลายวัน  จึงเห็นดอกมะม่วงออกพร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคม จนมกราคม เรื่อยมาจนกุมภาพันธ์ ยังมีดอกมะม่วงให้เห็นโดยทั่วไป เท่ากับว่า ผลผลิตของผลไม้ทุกชนิดจะออกล่าไปกว่าอีกประมาณ ๑ เดือนเต็ม ๆ แต่ปัญหาสำคัญคือทุกภูมิภาคออกดอกพร้อมกันที่แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นคาดการณ์ล่วงหน้าได้เลย ว่าช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๖ เกิดภาวะกระจุกตัวของมะม่วงทั่วประเทศ ที่สุดราคาตกลง โดยเฉพาะมะม่วงที่ไม่ใช่มะม่วงเศรษฐกิจ อย่างมะม่วงมะหาชนก คงได้เห็นราคา ๓-๕ บาท ในช่วงดังกล่าวแน่นอน                                          
                  ราคาที่จะตกลง(คุณภาพต่ำที่เกิดจากภัยธรรมชาติ อากาศร้อนจัด เพลียไฟ ทำให้ผิวมะม่วงเสียหาย)ในช่วงกลางเดือนเมษายน ส่งสัญญาณให้เห็น เพราะการกระจุกตัวของผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพเริ่มเกิดขึ้น นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ไม่ว่าจะย่านเพชรบูรณ พิษณุโลก ราชบุรี สิงบุรี พิจิต ชัยนาน ประจวบ ไม่เว้นแม้กระทั่งที่เชียงใหม่ก็เริ่มมีมะม่วงกับเขาด้วย(คุณภาพไม่เป็นอย่างที่คิด)  เมื่อผลผลิตมีมาก การระบายในช่วงสั้น  ๆ ทำได้ยาก ตลาดเองก็มีข้อจำกัด เรื่องของอุณหภูมิปลายทางที่ปีนี้บางประเทศต่ำมากกว่า ลบยี่สิบองศาเซลเซียส กรอปกับมะม่วงจากต่างประเทศอย่างออสเตรเลีย ที่มีมะม่วงและเลื่อนจากเดือนกุมภาพันธ์ มาเดือน มีนาคม เมษายน และเป็นมะม่วงยอดนิยม อย่าง Kensington Mango  ทำให้มะม่วงไทย(คุณภาพต่ำ)ตกอยู่ในภาวะลำบาก หากแก้ไขสถานการณ์ได้ในช่วงดังกล่าว หลังจาก เดือน เมษายน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงนอกฤดู มะม่วงจาก ประจวบ ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง กาญจนบุรี  จะกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ถึงอย่างไร ธรรมชาติยังคงเป็นตัวแปลที่สำคัญ และเรื่องของการดูแลแปลงในพื้นที่เขตภาคกลางที่นิยมยกล่องมีน้ำหล่อเลี้ยง เป็นเหตุผลที่สามารถแก้ไขได้สำหรับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สูง สามารถแก้ปัญหาในเรื่องโรคราที่เป็นไข้ประจำตัวของมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยเฉพาะทะวายเบอร์สี่ ได้
                สัญญาณที่สำคัญนี้  เมื่อผลผลิตมีมาก ระยะเวลาช่วงกระจุกตัว ประมาณ ๑๕ วัน การกระจายสินค้าทำได้ยาก เพราะข้อจำกัดในการเก็บเกี่ยว แรงงาน การขนส่ง อากาศร้อนจัด เป็นอุปสรรค์สำคัญทำให้ผลผลิตที่คุณภาพด้อยกว่าภาวะปกติ กลายเป็นปัจจัยหลักขึ้นมาทันที  หลายสวน ที่มีพื้นทีในการผลิตมากกว่า ๕๐ ไร่ขึ้นไปประสบปัญหา แรงงาน การดูแลไม่ทั่วถึง โรคต่าง ๆ ก็ตามมา พอกผลเล็ก ๆ มีเวลาไม่พอในการดูแล ช่วงแล้ง ขาดน้ำ พอโตห่อไม่ทัน(หาลูกจ้างไม่ได้)  ห่อผลโต ผลที่ตามมา เรื่องของคุณภาพ เรื่องสารพิษตกค้าง เรื่องของแมลงศัตรูพืช จิปาถะของปัญหาระดมเข้ามา ดังนั้นภาพรวมคุณภาพผลผลิตปีนี้ย่อมเป็นไปตามปัจจัยของเหตุที่เกิดขึ้น และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคปลายทาง สร้างความไม่พึงพอใจให้กับลูกค้า และบอกต่อ ที่สุดจุดเริ่มต้นของปัญหา และคู่แข่งที่จะเข้ามาแทรกตัวทดแทนมะม่วงไทย หากเราไม่ซื่อสัตย์ ไม่รับผิดชอบ ไม่เข้มงวดกับสวน ไม่ตรวจสอบภายในโรงงานคัดบรรจุ อย่างละเอียดพิถีพิถัน หากจะเอาราคาเป็นตัวตั้ง นั่นก็หมาความว่าคุณภาพจะต้องควบคู่กันไป และการรักษาคุณภาพให้คงที่เป็นจุดแข็งขององค์กร ของแบรนด์ในการสร้างตลาดให้เกิดความยั่งยืน หากทำเพื่อขอไปที เพราะจำนวนของมีมาก ราคาถูก ก็จะเข้าทางของคู่แข่งที่ คิด ทำ แบบประณีต มืออาชีพ  คุณภาพคงที ไม่ช้าไม่นานคู่แข่งก็แซงเรา ไม่ใช่คู่แข่งเฉพาะต่างประเทศ ในประเทศก็เช่นกัน แล้วจะมาตีอกชกตัวว่า คู่แข่งแย่งลูกค้าเราไป เพราะถ้าคุณภาพดี มีต่อเนื่อง ราคาเป็นธรรม  บริการหลังการขายดี ติดตาม แก้ไขปัญหาอย่างเกาะติด เชื่อเถิดครับไม่มีใครแย่งลูกค้าเราไปได้...
                วันนี้ ภาวะเศรษฐกิจซีกโลกยุโรป อเมริกามีปัญหา ซีกโลกเอเชีย อย่างจีน เกาหลี อินโดนีเซีย เวียดนาม เขมร ลาว พม่า กำลังดีวันดีคืน ตั้งสติให้ดี คิดให้ถ้วนถี่ พัฒนาตนเองให้เท่าทันแต่ละตลาด เลือกตลาดที่เหมาะกับตัวเรา อย่าโลภกวาดทุกตลาด เพราะไม่มีใครเก่งทำได้ครอบจักวาล ไม่ต้องทำใหญ่ แต่ทำแบบพอตัว กับความพร้อม(ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และประสบการณ์)ที่ตัวเองและทีมงานมีอยู่ รับรองครับอยู่ได้สบายใจและเติมโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มั่นคง ผลผลิตสดอย่างผักผลไม้ยังเติบโตต่อไปได้อย่างน่าสนใจ  เพราะทุกคนต้องบริโภค และกระแสการบริโภค กำลังเข้าสู่แบบดังเดิม คือบริโภคของสดที่มาจากธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารเคมีครับ!
                เริ่มที่ตัวเรา พัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับการพัฒนาของตลาด เช่น ตลาดจีนขณะนี้ มีคนมากกว่าพันสามร้อยล้านคน หากคิดว่าเราเสียเปรียบ ลองมองอีกมุม หนึ่ง ด้านของโอกาส จีน บริโภค ผลไม้ไทยแค่ สิบเปอร์เซ็นต์เราก็ไม่มีของส่งขายแล้ว จีน รวยขึ้น กินดีอยู่ดีขึ้น ชอบผลไม้ไทย เพราะเวลาเขาหนาว เข้าต้องบริโภคผลไม้เมืองร้อน หลายคนมองว่าคนจีนจะเข้ามาค้าขายแทนเรา นี่เป็นเหตุสำคัญที่ต้องกลับมาดูตัวเรา จีนเมื่อสิบหกสิบเจ็ดปีที่ผ่านมายังไม่เก่งเลย มาวันนี้ไล่หลังมาเพียงสิบกว่าปี กลับกลายเป็นคนจีน เก่งระดับสากล ระดับโลก แล้วคนไทยทำไมถึงสู้ไม่ได้ ผมไม่เชื่อว่าคนไทยไม่เก่ง แต่คนไทย ขาดความขยันมุ่งมั่น อดทน ลองกลับมาทบทวนตัวเราเอง ว่า หากข้างอีกสองสามปีข้างหน้า เราจะทำอย่างไร เพราะที่จริงเราพัฒนามานานกว่าจีน แต่ในช่วงเวลาข้างหน้าเราต้องพัฒนาอย่างไรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น น่าคิด???
                หันกลับมาดูตลาดมะม่วงที่สำคัญในตอนนี้ ที่ควรเฝ้าจับตา ดูตลาดรัสเซียที่เป็นตลาดที่หลายคนมองว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ  หากมองลึกลงไปในตลาดนี้ยังคงมีปัญหาอุประสรรค์ที่เป็นหลุมพรางรอมือใหม่หัดขับเช่นกัน ดังนั้นความพร้อม และบุคลากร เป็นหัวใจสำคัญ
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่าน นับตั้งแต่ครั้งแรกที่นำมะม่วงน้ำดอกไม้เปิดตลาดในกรุงมอสโก ในจำนวนไม่มากนัก จนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบได้ว่า คน รัสเซียนิยมบริโภคมะม่วงไทย กล่าวได้ว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ไทย ติดตลาดและเป็นที่นิยมรับประทาน(ผลสุก)อย่างแพร่หลาย ทั้งความสวยงาม รสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัย มีอายุวางตลาดได้นาน นับเป็นจุดเด่นของมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทย โดยเฉพาะพันธุ์สีทอง แม้ว่าอากาศจะหนาวเย็น เป็นอุปสรรค์สำคัญของผลไม้ในเขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย แต่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ยังคงเป็นผลไม้ที่สามารถวางขายได้ในตลาด แม้ว่าสภาพอากาศจะหนาวเย็น และที่สำคัญมีขายตลอดทั้งปี จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนรัสเซียอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่สำคัญ เรื่องของกฎระเบียบ ภาษา ระบบการขนส่งที่ยังเป็นอุปสรรค์ที่สำคัญในตลาดย่
                      ตลาดจีน และฮ่องกง   เป็นตลาดใหญ่ที่ ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ คุณภาพสินค้าที่เหมาะสมกับราคา การขนส่ง ระบบการแพ็คที่เหมาะสมในแต่ละตลาด แต่ละมณฑลยังมีความแตกต่างกัน ภาษีท้องถิ่นที่ต้องอาศัยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญ ยังเป็นปัญหาของผู้ส่งออก เงินทุน บุคลากรที่มีความรู้ เชี่ยวชาญเป็นหัวใจสำคัญ เพราะตลาดนี้ต้องอาศัย ความรวดเร็ว คุณภาพและปริมาณ เป็นอุปสรรค์กับธุรกิจขนาดเล็กบ้านเรา จะพบว่ามีชาวจีนจำนวนมากนำเงินเข้ามาเพื่อเป็นผู้ส่งออกเอง ส่งด้วยจำนวนสินค้าจำนวนมาก ได้เปรียบเรื่องเงินทุน ต้นทุนในการส่งออก ทำให้ราคาขายปลายทางถูกกว่าผู้ส่งออกบ้านเรา
ตลาดญี่ปุ่น และเกาหลี ยังคงเป็นตลาดคุณภาพสูง หากราคาปีนี้ต่ำลง ก็ยังสามารถส่งไปสร้างซื่อเสียงในตลาดทั้งสองนี้ได้ไม่ยากนัก ถึงอย่างไร เรื่องของความปลอดภัยยังคงเป็นปัญหาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะปีนี้ ภัยธรรมชาติทำให้ต้องใช้สารเคมีในปริมาณถี่ และสูง จึงควรระวังเป็นอย่างยิ่ง
                ตลาดสิงคโปร์ และมาเลย์เชีย ตลาดอินโดนีเซียเป็นตลาดเก่าที่สามารถระบายสินค้าได้เป็นอย่างดี หากราคาและคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่เคยทำ แม้ว่าราคาจะถูกอยู่บ้าง ในปีนี้ต้องทำใจ
                ตลาดเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า เป็นตลาดที่น่าสนใน หากราคาถูก คุณภาพดี เชื่อว่ายังระบายขายได้เช่นกัน เป็นตลาดที่สำคัญ และไม่มีสถิติให้เห็นมากนัก แต่มีปริมาณสูง
                ถึงสถานะการณทางธรรมชาตอจะเกิดขึ้นอย่างไร เศรษฐกิจโลกจะผันผวนอย่างไร หลักการที่สามารถยึดและดำเนินการให้ธุรกิจเกิดความยั่งยืน รอดปลอดภัยได้คงหนีไม่พ้นในเรื่อง ของทรัพยากรที่มีต้องดี เน้นเรื่องความสำคัญของ คุณภาพสินค้า คุณภาพคนทำสินค้า ทุนหมุนเวียน และการบริหารจัดการองค์รวมที่ดี
คุณภาพมะม่วง(สินค้า) เมื่อกล่าวถึงคุณภาพมะม่วง หลายคนมองผิวเผินว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ผู้บริโภคมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งผู้บริโภคมอง รสชาติ สีสัน(รูปลักษณ์) ความปลอดภัย  ระดับความสุกที่พอดี ราคาเหมาะสม(เป็นธรรม) เป็นองค์ประกอบที่ไล่เรียงกันตามความสำคัญ ดังนั้นการที่จะขายมะม่วงให้ได้ ต้องเข้าใจประเด็นนี้ให้ท่องแท้ชัดเจนเสียก่อน คำว่ารสชาติดีนั้น ต้องดีแบบคงเส้นคงวา การที่จะได้รสชาติดี แหล่งที่ปลูกมะม่วงสำคัญ สายพันธ์ การดูแลจากสวน ธาตุอาหารในดิน การเก็บเกี่ยว การขนส่งล้วนแล้วแต่สำคัญ ระยะการเก็บเกี่ยวให้แก่พอดียิ่งสำคัญมากที่สุด เพราะจะเป็นตัวกำหนดเรื่องของรสชาติ ปัญหาของเกษตรกรไทยคือ ความรู้ความเข้าใจเรื่องมะม่วงในแต่ละตลาดยังมีน้อย ดังนั้นผู้ส่งออกต้องให้ความรู้ แนะนำให้เกษตรกรผลิต ดูแล และเก็บเกี่ยวให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาด ผู้ส่งออกบางคนกลับมองว่าตลาดจีนเป็นตลาดง่าย ๆ จะทำอะไรส่งไปก็ได้ และที่สำคัญยังสำคัญผิดว่า เรามีมะม่วงอะไรก็น่าจะขายได้ ลูกค้าต้องการของสวยกลับมองว่าเรื่องมาก ที่สุดเกิดปัญหา เพราะไม่มีใครซื้อ แถมยังไปคุยกับเกษตรกรอีกว่าลูกค้าเรื่องมาก ต่างคนต่างมองว่าผู้บริโภคเรื่องมาก ท้ายที่สุดจะขายใครกันแน่ ขายกันเอง(ขายไม่ได้)หรือขายผู้บริโภค ย้อนกลับมาถามตัวเองว่าถ้าเป็นเรา จะซื้อของดีมีคุณภาพ รสชาติดี สวยงาม หรือว่าซื้อคุณภาพต่ำ ราคาเท่ากัน เป็นคำถามที่น่าค้นหาคำตอบ
                 คุณภาพของคน เป็นปัญหาขององค์กร โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีชีวิต ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ประสบการณ์ ขยัน อดทน ประณีต  มีความเข้าใจในตัวสินค้าเกษตรนั้นๆ มะม่วงก็เช่นกัน มีหลายคนคิดว่ามะม่วงที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาแต่พุทธกาล คิดจะทำอย่างไรก็ได้ มะม่วงมีชีวิต มีอายุขัยของเขาเอง เกษตรกร  ผู้รวบรวม บุคคลากรขนส่ง คนในโรงงานผลิต ลูกค้า และรวมถึงผู้บริโภคต้องเข้าใจ ที่สุดผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องมะม่วงอย่างลึกซึ้งด้วยเช่นกัน อย่าคิดว่ามะม่วงร้องไม่ได้ พูดไม่ได้ หากมองกันให้ละเอียด มะม่วงเหมือนเด็กอ่อนที่ต้องเอาใจใส่ดูแล ถึงเวลาใครนำไปบริโภคจะได้รับคุณค่า ประโยชน์จากมะม่วงสูงสุด
เงินทุน ธุรกิจการเกษตรนั้น เงินทุนหมุนเวียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นธุรกิจที่มีรอบหมุนเวียนเร็ว หากมีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด จะเป็นปัญหาในการจัดหาสินค้าที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ และขาดความต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจดำเนินงานอย่างติด ๆ ขัด ๆ ที่สุดก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ต้องเลิกราไป
                  การบริหารจัดการแบบองค์รวม การบริหารจัดการมะม่วงให้สมดุล และราบรื่นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์สูงในการบูรณาการให้สอดรับกัน ถือเป็นเรื่องยาก และต้องใช้ความละเอียด มีการวางแผน ตรวจสอบอย่างละเอียด มีการอบรม ประชุมบ่อยครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน ผู้บริหาร ต้องลงพื้นที่ ต้องดูแลงาน และมีบุคคลกรที่มีความรู้ความสามารถ มีความอดทน มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ เสียสละทุ่มเท เรียนรู้ พัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน
ความรู้ด้านการตลาด ประสบการณ์ด้านตลาด หลายคนส่งออกไปจีนได้ครั้งสองครั้ง คุยเหมือนกับส่งมานานหลายปี พอเจอปัญหา ลูกค้าไม่จ่ายเงินก็โกรธ หาว่าลูกค้าโกง ไม่ย้อนคิดกลับมาที่ตัวเอง ว่าที่เราส่งไปเป็นขยะทั้งนั้น(ขึ้นจุด ไม่สุก ช้ำ) ขายไม่ได้ไม่พูดให้ใครฟัง เพราะตั้งสมมติฐานในใจว่าลูกค้าจะโกงฝ่ายเดียว แต่ที่เป็นอย่างนั้นก็มีมากอยู่ บางคนส่งขายแบบขายฝาก(Consignment)ลูกค้าบางรายขายช้า(ตลาดมีของเข้ามาก หรือที่เรียกว่าตลาด ตาย”) ของเสียหาย หาเรื่องลดราคา หรือจ่ายไม่ครบจำนวน อันนี้ก็มีอยู่มาก  ค้าขายกันระยะยาวต้องศึกษานิสัยให้ชัดเจน อย่าตื่นต่อคำสั่งซื้อ(Order)ที่มาโชว์ ถ้าส่งเท่านั้นเท่านี้ตัน ได้กำไรเท่านั้นเท่านี้ แล้วเกิดอาการตาลุก/โลภ ที่สุดเสียหายมีให้เห็นอยู่ เรื่องของประสบการณ์โดยเฉพาะผลไม้ เรียนรู้ไม่สิ้นสุด ไม่ใช่แค่เรียนรู้ชีวิตผลไม้ แต่ต้องเรียนรู้สภาพรอบด้าน ตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่า ธรรมชาติ กระแสความนิยม รูปแบบ คู่ค้า ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการแข่งขันเรื่องราคา
                   ข้อมูลข่าวสารด้านการตลาด ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขายผลไม้ เพราะเนื่องจากระยะเวลาในแต่ละรอบสั้น ความต้องการเปลี่ยนแปลงเร็ว บางครั้งภายในรอบสัปดาห์มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ต้องมีข้อมูลของตลาดให้ชัดเจน ถูกต้อง ทันสถานการณ์ ตลาด คู่แข่ง ทั้งภายในและภายนอก ชนิด วันต่อวัน (ราคา และความเคลื่อนไหว จำนวนที่เข้ามาในตลาด) หากรู้ข้อมูลเหล่านี้มากเท่าไร? (สามารถปรับตัวเองให้ทันคู่ค้า ลูกค้า/ผู้บริโภค) สามารถลดความเสี่ยงได้มากเท่านั้น
                   การรับรู้เรื่องของการแข่งขัน รูปแบบของการแข่งขันในโลกของเทคโนโลยีสื่อสารที่ย่อโลกให้เหลือเพียงปลายนิ้วสัมผัส เกิดการแข่งขันได้ตลอดเวลา และรุนแรง
การแข่งขัน เกิดขึ้นทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งภายในภายนอก ต้องทำความเข้าใจ ติดตาม และรับรู้อยู่ตลอดเวลา อย่าวางใจ เช่น การแข่งขันภายในที่เกิดขึ้น ทั้งด้านคุณภาพ จำนวน และราคาเกิดขึ้นตลอดเวลา ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า พื้นที่ ปริมาณ เวลา สถานที่มีผลผลิต ราคาที่แหล่งไหนถูกกว่า ถือเป็นทักษะที่เกิดจากกการสะสมประสบการณ์ทั้งสิ้น การแข่งขันภายนอก ต้องรู้ว่า ขณะนี้มะม่วงในตลาดที่ส่งไปขายมีมะม่วงในท้องถิ่นหรือไม่ นำเข้าจากที่ไหนบ้าง ช่วงนี้เรามี แล้วใครมีบ้าง ห่างไกลแค่ไหน ต้นทุนต่างกันอย่างไร คุณภาพสู้กันได้หรือไม่ 
                     การส่งเสริมการขาย เมื่อมีการแข่งขัน ทั้งภายในภายนอก การส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญทั้งการส่งเสริมการขายภายใน ทั้งตลาด และแหล่งผลิต ต้องส่งเสริมทุกรูปแบบ ทุกช่องทาง เช่น การเพิ่มจำนวนการซื้อ การต่อรองราคา การลดราคา การคัดแยกขนาดเพื่อให้เหมาะสมกับตลาด ลดขนาดการบรรจุที่ง่าย สะดวก ประหยัด การพัฒนารูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการขาย เป็น ล็อท ๆ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
 การเลียนแบบ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากหยุดพัฒนาตนเองผู้อื่นจะเลียนแบบและพัฒนาต่อยอดที่สุดแซงเรา (หลายช่วงตัว) จนไม่สามารถไล่ทัน หากเรามัวแต่ย้อนคิดถึงอดีตที่ตนเองประสบความสำเร็จ ยึดมั่นถือมัน ไม่ฟังใคร อันนี้อันตรายสำหรับการแข่งขันในปัจจุบัน คิด ค้น พัฒนาอย่างต่อเนื่องคือทางลอดในโลกของการแข่งขัน
                     การแข่งขันเรื่องราคา เป็นวิธีดั่งเดิมที่สามารถนำมาใช้ได้ทุกเวลา ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง หากย้อนกลับไปคิดในรายละเอียด ยังสามารถแข่งขันด้านราคาได้โดยไม่ต้องขึ้นราคา หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ต้องทำ! ตั้งแต่ต้นน้ำ(ผู้ผลิต)จนถึงปลายน้ำ(ผู้บริโภค) มีความเสียหายในแต่ละส่วน รวมกันแล้ว ประมาณ 35 % ดังนั้นหากสามารถควบคุมความเสียหายให้ลดลงได้ นั่นก็หมายความว่าเราสามารถเพิ่มกำไรโดยไม่ต้องลดราคาขาย ทุกขั้นตอน เกิดความเสียหายได้ตลอดเวลา หันกลับมาควบคุมทั้งระบบ แล้วจะพบว่าต้นทุนยังสามารถลดได้ 10-15%
                     กฎระเบียบต่าง ๆ กฎหมายและกฎระเบียบทั้งภายใน และประเทศปลายทาง เป็นกฎระเบียบที่ต้องศึกษาและให้ความสำคัญ การค้าระหว่างประเทศ ต้องยึดกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ตรงไปตรงมา คู่ค้าเองไม่ต้องการดำเนินธุรกิจที่ผิดกฎระเบียบที่อาจจะมีบทลงโทษรุนแรงซึ่งไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น เรื่องของภาษีที่มีความแตกต่างกัน ภาษีนำเข้าอาจจะเท่ากัน แต่ภาษีท้องถิ่นในแต่ละมณฑลมีความแตกต่างกัน อันนี้ต้องศึกษาให้เข้าใจ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นภายหลัง
สุขอนามัย เป็นกฎกติกาที่เป็นกระแสมาแรงในปัจจุบัน และกำลังขยายตัวไปทั่ว ทั้งภายในประเทศ และประเทศคู่ค้า ตัวอย่าง เช่น สารพิษ เชื้อจุลินทรีย์ และแมลงศัตรูพืชที่พบที่ปลายทาง เช่น มดพบที่ประเทศจีนในมังคุด เป็นต้น อันนี้ก็สร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับประเทศไทยได้เช่นกัน
                เส้นทางธุรกิจการเกษตร น้ำตั้งแต่ การผลิต การรวบรวม การส่งออก รวมถึงระบบโรจีสติกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตใกล้ ๆ นี้ ผู้บริหาร  ผู้ประกอบการ และเกษตรกร ต้องเตรียมตัว เพื่อก้าวให้ทันกระแสของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องเตรียมตัวให้พร้อม อย่าหวังพึ่งใคร ต้องพึงตนเอง รวมกลุ่มกันให้เหนียวแน่ แชร์ ความรู้ ประสบการณ์ สร้างความเข้าใจ สะสมเป็นทักษะ ค้นหาองค์ความรู้ใหม่ ๆ มุ่งมั่น และตั้งมั่นในคุณธรรมจริยธรรม แม้ว่าโลกจะหมุนเร็ว การแข่งขันจะรุนแรง แกนความสามารถหลัก ขององค์กร คน ความพร้อม และคุณธรรมประจำใจ ประจำองค์กร ยังคงเป็นแกนสำคัญให้ยืดมั่นถือมั่น เพื่อความเติบโตแบบยั่งยืน ใครที่ไหนก็เข้ามาทำร้ายเรา องค์กร ชุมชน ประเทศชาติไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริงที่ต้องหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ แล้ววันนั้น จะเป็นวันที่รอคอย เป็นวันแห่งความสำเร็จในชีวิตตามที่วางเป้าหมายไว้ ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ...
                                  ..........................................................................................................................
บทความนี้ ลงในหนังสือ :                เดอะแพลนท์ แมกาซีน  ปีที่ ๓ เล่มที่ ๒๖ และ ๒๗ : ๒๕๕๖
                                                            เกษตรวาไรตี้ ปีที่ ๒ ฉบับที่  

                                                            เมืองไม้ผล เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖